Operation Entebbe: ปฏิบัติการชิงตัวประกัน

"ปฏิบัติการเอนเทบเบ้"ล้วงตับเผด็จการ อีดี้ อามิน



 หรือรู้จักกันในชื่อ “ปฏิบัติการโจนาธาน” (Jonathan Operation) หรือ “Entebbe Raid” หรือ “Operation Thunderbolt” เป็นปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันโดยกองทัพอิสราเอล (Israel Defense Forces: IDF) ที่สนามบินเอนเทบเบ้ในประเทศยูกันดา กลางดึกวันที่ 3 กรกฎาคม และช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1976

 

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1976 เวลา 05:15 น. ตามเวลาท้องถิ่น เครื่องบิน AF139 ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ (AIR FRANCE) ที่ลำเลียงผู้โดยสาร 285 คน โดยมีผู้โดยสารชาวยิวกว่า 83 คน เดินทางจากกรุงเอเธนส์ไปยังกรุงเทลอาวิฟ ประเทศอิสราเอล และกำลังมุ่งหน้าสู่นครปารีส ถูกปฏิบัติการไฮแจ็ค (Hi-Jack) หรือสลัดอากาศชาวปาเลสไตน์เข้าจี้เครื่องบินและควบคุมผู้โดยสารทั้งลำเป็นตัวประกัน กลุ่มสลัดอากาศบังคับให้นำเครื่องลงที่สนามบินเอนเทบเบ้ กรุงกัมปาลา อันเป็นประเทศในการควบคุมของเผด็จการอย่าง “อีดี้ อามิน” (Idi Amin)
ก่อนหน้าที่จะลงไปยังกรุงกัมปาลา กลุ่มผู้ก่อการร้ายยังมีใจเมตตาต่อชนชาติอื่นที่มิใช่ชาวยิว พวกเขาปลดปล่อยผู้โดยสารที่ไม่ใช่ชาวยิวลงที่เมืองเบงกาซี ประเทศลิเบีย ของ “นายพลโทโมฮัมหมัด กัดดาฟี่” พันธมิตรใหญ่ของ “อีดี้ อามิน” จำนวน 43 คน ก่อนมุ่งหน้าไปยังกรุงกัมปาลา … งานนี้มีหลักฐานบ่งชี้ว่า “อีดี้ อามิน” ให้ความร่วมมือกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์อย่างเต็มที่ ถึงขนาดเตรียมทหารมาต้อนรับกลางสนามบินเอนเทบเบ้เพื่ออำนวยความปลอดภัยแก่ผู้ก่อการร้ายเสียด้วย
อีดี้ อามิน (Idi Amin)
เที่ยวบิน AF139 หายไปจากแผนที่การบินของโลก และหายจากพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ชั่วระยะหนึ่งเมื่อมีข่าวอื่นที่น่าสนใจกว่า เที่ยวบิน AF139 เริ่มหายไปจากความทรงจำของทุกคนและทุกฝ่าย เมื่อการเจรจายืดเยื้อนานวัน ประหนึ่งว่าถึงแม้คนนับร้อยชีวิตจะถูกเรียงเด็ดทิ้งเสียด้วยกระสุนปืนก็คงจะไม่มีใครใส่ใจนัก นอกจากยักไหล่แสดงความเศร้าเท่านั้น – แต่เที่ยวบิน AF139 ไม่ได้หายไปจากหัวใจของชาวอิสราเอลและญาติพี่น้องทุกคนของผู้ประสบชะตากรรม

คืนวันอาทิตย์เริ่มมีรายงานข่าวเกี่ยวกับโจรที่จี้เครื่องบิน แห่งแรกมาจากลอนดอนมีข่าวว่า เที่ยวบิน AF139 ถูกควบคุมโดยผู้หญิงชาวเยอรมันตั้งแต่ห้านาทีแรกที่บินขึ้นจากกรุงเอเธนส์ การปฏิบัติการร้ายแรงครั้งนี้มีคนเยอรมันสองคนเป็นผู้รับผิดชอบและมีการวางแผนที่ละเอียดอย่างมาก
พวกโจรประกอบด้วยผู้ชายเยอรมันอีกคนหนึ่ง และชายอาหรับอีกสามคน ผู้โดยสารที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาก่อนให้การว่า ผู้ก่อการร้ายทุกคนมีอาวุธ มีระเบิดมือ มีกับระเบิดวางเอาไว้ที่ประตูเครื่องบิน ซึ่งเมืองเบงกาซีเป็นเพียงจุดแวะเท่านั้น เชื่อว่าผู้ก่อการร้ายจะบินไปยังอัฟริกากลาง

หน่วยสืบราชการลับของอิสราเอลได้แอบดักฟังข่าวสารต่างๆ พอทำให้รู้ว่าการจี้ยึดเครื่องบินครั้งนี้มีเป้าหมายมาที่ประเทศอิสราเอลโดยตรง ผู้ก่อการร้ายต้องการให้อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษที่เป็นเพื่อนของผู้ก่อการร้ายจำนวน 40 คน ที่ถูกทางการอิสราเอลจับคุมขังไว้ ถ้าไม่ยอมปล่อยจะสังหารผู้โดยสารชาวยิว ผู้ก่อการร้ายได้ปล่อยตัวผู้โดยสารชาติอื่นไป 43 คน ก่อนที่เที่ยวบิน AF139 จะวิ่งขึ้นจากเมืองเบงกาซี ประเทศลิเบีย มาที่สนามบินเอนเทบเบ้ในประเทศยูกันดา ที่นี่เองมีการ “แบ่งพวก” แยกเอาผู้โดยสารที่เป็นชาวยิวออกจากผู้โดยสารชาติอื่น
สนามบิน Entebbe

คณะรัฐมนตรีของอิสราเอลสั่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจซึ่งมีทั้งทหารและพลเรือน โดยมี “พันเอกโจนาธาน เนธันยาฮู” หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษทาสก์ฟอร์ซ์เป็นผู้รับหน้าที่อันยากลำบาก หลังจากที่เครื่องบินได้ถูกผู้ก่อการร้ายบังคับไปลงที่สนามบินเอนเทบเบ้ หน่วยข่าวกรองต่างๆ ของอิสราเอลได้ส่งข้อมูลให้แก่คณะเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจซึ่งแบ่งการทำงานออกเป็นสองทีม ทีมที่หนึ่งดำเนินตามแผน A เพื่อเจรจาและยอมตามคำเรียกร้องของผู้ก่อการร้าย ทีมที่สองดำเนินการตามแผน B นำโดยผู้นำหน่วยทหารมือดี เตรียมพร้อมและซ้อมใหญ่เผื่อไว้กรณีแผน A ล้มเหลว


เที่ยวบิน AF139 ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับชาวอิสราเอล เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ครั้งนี้พิเศษตรงที่เป็นการต่อสู้กับกองโจรก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับผู้นำประเทศที่มีความบ้าคลั่งอย่างจอมเผด็จการ “อีดี้ อามิน” การเจรจาเป็นขั้นตอนแรกที่นำมาใช้เสมอเมื่อต้องเผชิญกับการก่อการร้าย

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน ผู้ก่อการร้ายประกาศข้อเรียกร้องต้องการให้แลกเปลี่ยนตัวนักโทษจำนวน 53 คน กับผู้โดยสารที่เป็นตัวประกัน โดยกำหนดเส้นตายไว้วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม ความยากลำบากเพิ่มขึ้นอีกเพราะนักโทษที่ถูกคุมขังกระจายอยู่ในเรือนจำหลายประเทศ ทำให้ต้องคอยฟังความคิดเห็นของชาติอื่นๆ ด้วย แผนอื่นๆ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอีก เช่น การลักพาตัว “อีดี้ อามิน” และการส่ง “นายพลโมเช่ ดายัน” เข้าไปเจรจา แต่ต้องตกไป และสิ่งหนึ่งที่อิสราเอลตระหนักก็คือ ทรรศนะจากชาวโลก การปฏิบัติการทางทหารต้องนำเครื่องบินบินอ้อมดินแดนอาหรับที่เป็นศัตรูอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ต้องหลบระบบการตรวจจับอันทรงประสิทธิภาพด้วยเครื่องมือโซเวียต และต้องบินออกไปไกลเกินกว่าที่รัศมีทำการของเครื่องบินที่อิสราเอลมีอยู่จะไปถึง

ความห่างไกลระหว่างประเทศอิสราเอลและยูกันดา มากกว่า 2,000 ไมล์ นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการปฏิบัติการทางทหาร เพราะช่วงเวลานั้นเกือบทุกประเทศในแถบตะวันออกกลางและอัฟริกาล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเวียตแทบทั้งสิ้น ระบบเครือข่ายเรดาร์และระบบป้องกันภัยทางอากาศของประเทศเหล่านั้นอาจทำให้แผนปฏิบัติการพินาศลงได้ในทันที

ผู้ร่วมอยู่ในแผนปฏิบัติการทั้งชายและหญิงได้รับคำสั่งว่า การเคลื่อนไหวใดๆ ต้องปกปิดไม่ให้เกิดความสงสัยขึ้น ให้แต่งกายพลเรือนเมื่อเดินทางไปเข้าฐานปฏิบัติการ ให้เดินทางโดยรถบัสหรือรถยนต์ส่วนตัว อย่าใช้ยานพาหนะของทางราชการทหารหรือไม่ก็ต้องใช้วิธีโบกรถเอา เนื่องจากในวันที่ต้องเข้าที่ตั้งนั้นเป็นวันซับบาธ (วันพระของชาวยิว) หากมีปฏิบัติการทางทหารขึ้นอาจขัดต่อการที่ครอบครัวจะพักผ่อนอยู่ด้วยกัน ในวันนี้มีคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เกี่ยวพันกับแผนนี้และรู้ว่าการซ้อมใหญ่นั้นทำไปเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร และของจริงจะเป็นอย่างไร เพราะการซ้อมใหญ่ได้มีการแบ่งแยกออกเป็นช่วงๆ ตามหน้าที่ของแต่ละหน่วย ซึ่งคณะเสนาธิการทหารนำโดย “แดน ชอมรอน” เป็นผู้กำหนด แต่ละหน่วยจะมีการปฏิบัติการที่เป็นอิสระแก่กัน แต่ละหน่วยซ้อมเฉพาะหน้าที่ของตนเท่านั้น โดยรู้ว่าจะมีคำสั่งจากผู้บังคับการหน่วยพิเศษ กองกำลังผสมนี้เมื่อถึงเวลาของการปฏิบัติการจริงๆ การซ้อมใหญ่ของแต่ละหน่วยที่จะสอดประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

หน่วยแพทย์ทหารไม่จำเป็นต้องซ้อมใหญ่ เพราะเคยชินต่อการปฏิบัติงานการผ่าตัดกลางอากาศมาหลายครั้ง-หลายหนแล้ว เพียงแต่ได้รับแจ้งว่าให้เตรียมการเท่านั้น โดยได้เรียกตัวแพทย์และพยาบาลทุกคนมาเก็บตัวตั้งแต่ตอนบ่าย หมอคนหนึ่งกลับไปที่โรงพยาบาลชั่วคราว เพราะมีการผ่าตัดด่วนรออยู่และเพื่อนของเขาเห็นผิดสังเกต เพราะหมอมีเข็มฉีดยาที่ออกแบบให้เหมือนเข็มขัดกระสุนปืนแต่ภายในบรรจุยานานาชนิดและเครื่องมือผ่าตัดไว้ สิ่งที่เพื่อนของเขาเห็นและการที่แพทย์และพยาบาลหลายคนหายตัวไป ทำให้เกิดข่าวลือทั่วโรงพยาบาลว่าจะต้องมีเหตุบางอย่างเกิดขึ้นแน่ นอกจากโรงพยาบาลแล้วการปกปิดความลับในเรื่องนี้เป็นไปอย่างเคร่งเครียด

ครั้งแรกมีคำสั่งให้นักบินเข้าเก็บตัวเช่นกัน แต่หลายคนคัดค้านด้วยคำพูดทำนองเดียวกันว่า “ขอให้ผมได้นอนบ้านเป็นคืนสุดท้ายเถิด” คณะเสนาธิการยินยอมในข้อนี้ เพราะจำนวนนักบินซึ่งให้เก็บตัวนั้นมีมากกว่าจำนวนที่จะเอาไปใช้งานจริงๆ ถึงสามเท่าและนักบินทุกคนก็เก็บความลับกันที่สุดอยู่แล้ว เพราะรู้ดีว่าพวกเขาคือเหยื่อแถวแรกหากความลับรั่วไหลออกไป นักบินได้รับการยกเว้นในการเก็บตัว ในอดีตนักบินทุกคนต้องประสบกับความกดดันทางประสาทมามาก ทั้งการถูกยิงตกในชายแดนและการถูกทารุณกรรมทุกคนห่วงใยต่อการคุ้มครองลูกเมียและการที่พวกกองโจรจะมาแก้แค้นถึงบ้าน นักบินอิสราเอลจึงได้ชื่อว่าเป็นพวกที่ปิดปากได้สนิทที่สุดในกองทัพ

“นายพลเกอร์” ย้ำว่าสิ่งที่จะต้องมั่นใจให้มากที่สุดก็คือเครื่องบินลำเลียง C-130 เฮอร์คิวลิสที่พวกอิสราเอลเรียกว่า “ฮิปโป” นั้น จะสามารถขึ้นบินได้โดยบรรทุกเต็มอัตราไปสู่สนามบินที่ไม่รู้จักมาก่อนและสามารถกลับได้อย่างปลอดภัยหลังจากที่ส่งหน่วยจู่โจมไปช่วยเหลือผู้โดยสาร รวมทั้งยานพาหนะ รถสายพานลำเลียงพลและอาวุธอื่นๆ รวมทั้งรถจี๊ปที่ติดปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังและจรวด โดยจะต้องบินเป็นระยะทางประมาณ 5,000 ไมล์ ไป-กลับ
ไม่มีการช่วยนำทางจากหอบังคับการบิน จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าเครื่องบินใหญ่ๆ หลายลำเช่นนี้จะบุกเข้าไปใจกลางอัฟริกา “นายพลเกอร์” ระบุด้วยว่าจะต้องให้มั่นใจว่าเครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่หลายลำเหล่านี้จะต้องมีพลังโจมตีเพียงพอและจะต้องไม่ให้ถูกตรวจพบในระหว่างการเดินทาง และในการลงสู่สนามบินที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,800 ฟุต ที่มียามรักษาการณ์แน่นหนาโดยไม่ให้พวกทหารรักษาการณ์รู้ตัวจะทำได้เพียงไหน  หากว่าเครื่องบินลำใดลำหนึ่งเกิดเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นฐานล้อหรือเครื่องยนต์ หรือถูกยิงหรือโดนสะเก็ดระเบิด หรือแม้กระทั่งดูดเอาอีแร้งเข้าไปในเครื่องยนต์อย่างที่เคยมีมา เราจะช่วยเอาลูกเรือและทหารในลำนั้นออกมาได้อย่างไร ในเมื่อแผนการกำหนดไว้ว่าจะใช้เครื่องบินไม่เกิน 4 ลำ เพื่อความรวดเร็ว เรื่องนี้คงไม่มีปัญหา แม่ทัพอากาศ “เบนนี่ เปเลด” รับรอง
ในชีวิตนักรบของ “มอร์เดชาย เกอร์” ประธานคณะเสนาธิการทหาร เขาได้เข้าสู่ช่วงแห่งการเสี่ยงที่สุดโดยอาสาไปกับการซ้อมใหญ่ของหน่วยจู่โจมด้วยตนเอง เขาต้องนั่งอยู่กับที่นั่งนักบินสำรองนานกว่าสามชั่วโมงระหว่างการทดสอบเครื่องโดยการติดเครื่องยนต์กังหันไอพ่นของเฮอร์คิวลิสสี่เครื่องเต็มที่ เครื่องบิน C-130 เฮอร์คิวลิสของล็อคฮีดนี้สามารถบรรทุกทหารได้ 92 นาย ในการซ้อมใหญ่ โดยฝึกเสมือนว่าจะต้องนำทหารไปส่งห่างจากที่ตั้ง 2,000 ไมล์ ในการทดสอบนั้นเครื่องบินจะต้องลงบนสนามบินที่มีสภาพเป็นหลุมบ่อ ส่งปืนใหญ่ รถบรรทุกและทหารลง แล้วซ้อมรับเอาเตียงพยาบาลขึ้นมาได้ 74 เตียงโดยใช้เวลาอยู่บนพื้นดิน 33 นาที

เครื่อง C130 ที่ใช้ในปี1976 พระเอกของงานนี้  สังเกตดูที่หัวเครื่อง มีรอยกระสุน
แม่ทัพอากาศ “เบนนี่ เปเลด” ซึ่งฝึกบินมาตั้งแต่วัยรุ่นยืนยันว่า เขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ด้วยประสบการณ์ของเขาเอง ส่วน “นายพลเกอร์” รู้ได้จากการทดสอบด้วยตนเองและรายงานประกอบและต้องการจะทดสอบความคล่องตัวและพลังของไอ้ยักษ์บินนี้ด้วยตนเอง

คืนนั้นเฮอร์คิวลิสลำที่ประธานคณะเสนาธิการนั่งอยู่ด้วยได้บินขึ้นลงที่สนามบินทะเลทรายหลายครั้ง บินตัดเข้าไปในเขาท่ามกลางความมืดสนิท บินแบบพุ่งไต่ระยะสูงฉับพลัน โดยเร่งเครื่องสี่เครื่องเต็มขีดและนักบินต้องเหยียบเบรกติดเท้า เครื่องบินหนัก 70 ตัน บินขึ้นได้เร็วเหมือนเฮลิคอปเตอร์และในการบินลงยังทะเลทรายที่มืดสนิทก็ทำได้ราวกับตกลงจากท้องฟ้า การซ้อมใหญ่เป็นการเสี่ยงที่สุดหลายครั้งหลายหน “นายพลเกอร์” จับท่อนเหล็กยาวยึดตัวไว้แน่นเมื่อเครื่องบินพุ่งขึ้นหรือวูบลง หนหนึ่งเขาเครียดจนผรุสวาทออกมาว่า “นี่เราจะไปนรกที่ไหนกันวะ !”
“เอนเทบเบ้” แม่ทัพอากาศตอบพร้อมกับตบไหล่

การซ้อมใหญ่ของเครื่องบินเฮอร์คิวลิสเป็นไปอย่างหนัก เพราะในแผนการรุกเอนเทบเบ้นั้นต้องให้เครื่องบินบินถึงอย่างรวดเร็ว ฉับพลันและเงียบที่สุด ต้องใช้ทางวิ่งของสนามบินสั้นที่สุดและต้องบินขึ้นหนีให้เร็วและขึ้นสู่ระยะทางสูงให้เร็วที่สุด นักบินต้องเตรียมการว่าอาจจะต้องร่อนลงที่ทุ่งนาหากว่าสนามบินถูกทำลายเสียก่อนโดยพวกยูกันดาและจะต้องเตรียมที่จะพาผู้โดยสารเคราะห์ร้ายเหล่านั้นบินหนีขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนเฮลิคอปเตอร์ หากว่าสนามบินกลายเป็นสนามรบ … เฮอร์คิวลิสอาจจะมีความสามารถที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ แต่เมื่อย้อนไปดูจุดประสงค์การสร้างเครื่องบินนี้ก็น่าวิตกอยู่เหมือนกัน เพราะกำหนดไว้ว่า สร้างขึ้นมาเพื่อบินขนส่งด้วยความเร็วไม่มากนัก การที่จะเร่งเครื่องบินและบินขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นอาจจะทำให้ปีกที่อ่อนมากหักได้

ในการที่จะต้องบินขึ้นอย่างรวดเร็วในเอนเทบเบ้นั้น การไต่ระดับเป็นภาวะที่เสี่ยงที่สุด เพราะนักบินจะต้องกระชับมือซ้ายเอาไว้กับคันบังคับการเชิดหัวและมือขวาอยู่ที่คันเร่ง เครื่องยนต์สองเครื่องด้านนอกจะต้องเร่งแค่ครึ่งเดียว ส่วนสองเครื่องด้านในจะต้องเร่งเต็มขีด นักบินผู้ช่วยจะต้องทำหน้าที่ปรับระดับปีก โดยใช้ปีกเล็กแก้เอียง เหตุผลของการเสี่ยงเช่นนี้เพราะพลังส่งของเครื่องยนต์ไอพ่นกังหันนั้นอันตรายมาก หากว่าในเวลานั้นเครื่องยนต์เครื่องใด-เครื่องหนึ่งเกิดดับในขณะต้องเร่งถึงระยะ 90 ไมล์ต่อชั่วโมง ที่ความเร็วต่ำกว่านั้นไม่มีหนทางใดจะแก้การเหวี่ยงของเครื่องบินที่เกิดจากเครื่องยนต์ที่เสียได้ การใช้ปีกแก้เอียงขณะบินขึ้นเป็นการบินที่บ้าระห่ำพอใช้ แต่จำเป็นต้องทำเพราะยางเครื่องบินจะต้องสูบลมให้อ่อน ฐานล้อของเฮอร์คิวลิสที่แนบอยู่กับลำตัวไม่อาจจะช่วยในการที่ปีกข้างใดข้างหนึ่งเอียงลง อาจจะเสียหลักทิ่มลงมาทางข้างเหมือนนักสเก็ตหกล้มได้เพราะฐานล้อแคบเกินไป

“นายพลเกอร์” สยองมากในการซ้อมใหญ่คืนนั้น เพราะการซ้อมใหญ่ในการบินแบบบ้าระห่ำท่ามกลางความมืด ให้เหมือนการจะต้องปฏิบัติการจริงๆ “นายพลเกอร์” เป็นคนแปลกหน้าสำหรับห้องนักบิน ขณะที่นักบินและผู้ช่วยมีเครื่องอุปกรณ์ที่จะรู้ถึงสภาพเบื้องนอกพอสมควร แต่ “นายพลเกอร์” ไม่รู้อะไรเลย นักบินได้ลองซ้อมที่จะนำเครื่องบินกระแทกลงในกรณีที่ไม่อาจจะมีเครื่องช่วยลงสู่สนามได้และตัดความเร็วอย่างกะทันหันจนไอ้ยักษ์ใหญ่สั่นไปทั้งลำและบังคับเครื่องบินเป็นไปอย่างลำบาก พอกระแทกลงพื้น เครื่องบินก็ไถลออกทางข้างหน้าเหมือนจะคว่ำ นักบินได้พา “นายพลเกอร์” ซ้อมบินขึ้นลงระยะสั้นหลายหนจนรู้สึกเหมือนว่าเขากำลังอยู่ในลิฟต์ที่ขาดตกจากตึกสูงๆ โดยทิ้งตัวลงจากระยะสูงกว่า 700 ฟุต ที่คาดว่าจะเป็นระยะสูงเมื่อเฮอร์คิวลิสเข้าถึงสนามบินเอนเทบเบ้ ระยะสูงนี้จะทำให้พวกโจรไม่มีหนทางจะรู้ตัวได้ทัน “นายพลเกอร์” ได้คุยกับนักบินและหน่วยรบพิเศษบนเครื่องเฮอร์คิวลิสถึงปัญหาต่างๆ ทุกคนมั่นใจว่าเครื่องบิน C-130 จะสามารถช่วยให้การปฏิบัติการที่เอนเทบเบ้กินเวลาหนึ่งชั่วโมง
“ลองสัก 55 นาที ก็แล้วกัน” ประธานคณะเสนาธิการทหารต่อรอง

ทีมซ้อมใหญ่เริ่มทดลองใหม่อีกหน คราวนี้ทดลองเอาเครื่องเฮอร์คิวลิสตะลุยเข้าไปเพื่อส่งหน่วยจู่โจมเข้ารุกยามรักษาการณ์สนามบิน ไม่เหมือนคราวแรกที่ซ้อมลงเพื่อช่วยผู้โดยสารอย่างเดียว ซ้อมหมุนตัวเข้าหาหอเรดาร์ หอบังคับการบินและตึกเก่าที่เอนเทบเบ้อันเป็นผู้คุมขังผู้โดยสาร ในที่สุดหลังจากที่ซ้อมกันแล้วก็พอประมาณการณ์ได้ว่าเมื่อหน่วยจู่โจมเข้ายิงสกัดยามรักษาการณ์ที่สนามบินชาวยูกันดาได้แล้ว ผู้โดยสารจะได้รับการช่วยเหลือในเวลา 75 วินาทีหลังจากนั้น

“นายพลเกอร์” ยังไม่พอใจ เขาขอดูแบบจำลองของสนามบินอีกหน โดยวางตำแหน่งรถถังและยามรักษาการณ์เอาไว้ตามที่สายลับรายงานมา เรียกเอาพวกมือปืนและหน่วยจู่โจมแรกที่จะบุกลงไปศึกษารายละเอียดทุกตารางนิ้วของตึกนั้นอีกครั้ง เพื่อหาวิธีการเข้าถึงตัวผู้โดยสารและเอากลับมายังเครื่องเฮอร์คิวลิสที่จะต้องติดจรวดช่วยเอาไว้ด้วยหากว่าจะต้องบินขึ้นอย่างรวดเร็วจากเอนเทบเบ้ถ้าจำเป็น สิ่งเดียวที่นายพลเกอร์บอกว่าพอใจที่สุดคือพวกเขาคิดว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นไปไม่ได้สำหรับงานนี้ เขาซ้อมกันเหมือนรบจริงเหมือนว่าเขาอยู่บนสนามบินเอนเทบเบ้ในวินาทีนั้น ซ้อมกันจนกระทั่งจดจำอิริยาบถทุกอย่างได้ว่าเมื่อถึงเวลาจริงๆ เขาจะอยู่กันตรงไหน อย่างไรและยอมที่จะเผชิญภยันอันตรายอย่างไม่หวั่นเกรง แต่เหล่าทหารทุกคนก็ยอมรับว่าการไปทำงานหนักหนนี้เสี่ยงและอันตรายอย่างยิ่ง ไว้ใจได้ก็ตรงที่มีคณะเสนารักษ์ชั้นดีตามไปด้วย สามารถจะผ่าตัดกันกลางอากาศได้ทันที พวกคณะแพทย์และพยาบาลเสนารักษ์เองก็ยอมรับว่า การไปทำงานครั้งนี้จะต้องเป็นงานอย่างหนักแน่นอนและต้องเสี่ยงภัยอันตรายมากมายหลายอย่าง

“นายพลเกอร์” ประธานคณะเสนาธิการทหารได้พูดคุยกับทหารทุกหน่วย ทั้งพวกหน่วยรบและหน่วยสนับสนุน ถึงความจำเป็นที่อาจจะต้องใช้กำลังทหาร แต่ก็จะหลีกเลี่ยงการนองเลือดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทุกคนเห็นพ้องกันว่า “แผนฟ้าผ่า” คือสิ่งจำเป็นจะต้องทำ เพราะต้องพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่าชนชาติยิวนั้นจะต้องไม่กลัวเกรงต่อการข่มขู่และต้องพร้อมที่จะเผชิญหน้าศัตรูอย่างพร้อมเพรียงกันทุกฝ่าย ขณะที่อิสราเอลคิดว่าตนเองอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายนั้น มีประเทศหนึ่งที่ยินดีให้ความร่วมมือก็คือ อังกฤษ เพราะอังกฤษดูเหมือนจะรู้ถึงผลร้ายของพวกกองโจรได้มากที่สุดจากการที่องค์การการก่อการร้ายนานาชาติให้การสนับสนุน
สงครามเลือดในลอนดอนและไอร์แลนด์เหนืออยู่ คนอังกฤษอีกมากยังอยู่ในยูกันดาและอังกฤษก็มีสัญญาลับในการป้องกันร่วมกันกับเคนยา โดยเครื่องบินรบและหน่วยทหารของอังกฤษสามารถใช้สนามบินไนโรบีและสนามบินอื่นๆ ของเคนยาได้ถ้าจำเป็น อังกฤษและเจ้าหน้าที่อิสราเอลได้ร่วมกันประเมินเอาไว้ระหว่างการซ้อมใหญ่ว่าจะมีการสูญเสียเชลยหากมีการปะทะเกิดขึ้นที่เอนเทบเบ้ถึง 35 คน อิสราเอลจะยอมรับความสูญเสียนี้หรือไม่ แต่หากว่าไม่สู้ก็อาจจะต้องสูญเสียทั้ง 105 คน

วิกฤตการณ์ในครั้งนั้น ถ้าหากขาด “อีดี้ อามิน” ผู้นี้คงจะทำให้เรื่องราวต่างๆ ง่ายขึ้นและแสนจะจืดชืด แต่หากมองในเชิงนิยายสายลับที่มีความตื่นเต้นเร้าใจ ผู้นี้แหละทำให้การปฏิบัติการในครั้งนั้นครบรส มีเรื่องราวให้ชวนติดตามอยู่ทุกนาที กองรบตามแผนยุทธการแผนฟ้าผ่าได้ทะยานขึ้นสู่อากาศก่อนแล้ว ก่อนที่คณะรัฐมนตรีอิสราเอลจะมีมติให้ลงมือได้ คณะรัฐมนตรีกำลังประชุมและถกเถียงกันอยู่ กองบินรบแบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือกองบัญชาการลอยฟ้าและโรงพยาบาลลอยฟ้า เป็นเครื่องบินแบบ Boeing 707 มุ่งหน้าไปยังสนามบินไนโรบี ประเทศเคนยา ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวที่ยังคงเป็นมิตรของอิสราเอล ส่วนที่สองคือหน่วยปฏิบัติการพิเศษใช้เครื่องบิน C-130 สี่ลำเป็นหน่วยจู่โจมทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ การประชุมล่าช้าออกไป นักบินถึงกับบ่นว่า “ถ้าพวกโง่นั่นยังเอาแต่นั่งพูดกันละก็ น้ำมันเราจะหมดเสียก่อนแน่”

ความกังวลของทุกคนในกองกำลังนั้นสะท้อนออกมาในทางเดียวกัน ทุกคนได้รับการฝึกฝนมาเพื่อการรบ เพื่อต่อสู้ แต่การที่ต้องมานั่งรอกงล้อแห่งประชาธิปไตยในคณะรัฐมนตรีที่หมุนอย่างเชื่องช้า โดยมีชะตากรรมของประเทศและของเขารองรับอยู่นั้นอยู่ในภาวะที่เกือบจะสุดทน เครื่องบินพร้อมกำลังรบเต็มอัตราศึก กำลังเดินทางมุ่งสู่เป้าหมาย แต่ยังไม่มีคำสั่งให้รุกจากพวก “ตาแก่ที่เอาแต่นั่งลูบหนวด คิดกันอยู่นั่นเอง” เหลือเวลาน้อยเต็มทีและเวลาแห่งการปฏิบัติการก็ถูกตีกรอบจำกัดเข้ามา ผู้โดยสารจะถูกฆ่าในวันรุ่งขึ้น

คณะรัฐมนตรีอภิปรายกันอย่างยืดเยื้อ นายกรัฐมนตรีบอกว่าไม่ต้องการจำกัดเวลาในการแสดงความคิดเห็นของรัฐมนตรีแต่ละคน ดังนั้นการตัดสินใจจะเป็นไปอย่างอิสระโดยไม่ถูกเงื่อนเวลาบังคับ เพราะรัฐมนตรีแต่ละคนก็ล้วนอยากจะพูดในวาระประวัติศาสตร์สำคัญนี้ทั้งสิ้นและเพราะเหตุนั้นการตัดสินใจขั้นสุดยอดก็ต้องยืดออกไปอีก กองบินรบได้บินมาอยู่เหนือ “ชาร์ม อัลชิค” ปลายใต้สุดของอาณาเขตอิสราเอล ที่การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีได้แจ้งไปถึงนักบิน“ไปได้ !!!”

วินาทีเดียวนั้นเอง อิสราเอลได้สั่งตัดการติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องบินทั้งสี่โดยสิ้นเชิง วิทยุทหารทุกข่ายระงับการติดต่อ เพื่อป้องกันการดักฟัง ย่ำสนธยากองบินรบก็เข้าเส้นทางเหนือไนโรบี ไม่มีหนทางที่จะร่อนลงที่ไหนได้อีกแล้วก่อนที่ถึงยูกันดา เครื่องบินขับไล่คุ้มกันได้กลับไปแล้ว เบื้องหน้าคือเป้าหมายการเดินทาง สนามบินเอนเทบเบ้ บัดนี้เครื่องบิน C-130 ทั้งสี่ลำไม่มีโอกาสพรางตัวการตรวจจับของเรดาร์ว่าเป็นเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ได้อีกต่อไป เพราะได้บินออกนอกเส้นทางบินของเครื่องบินโดยสารพาณิชย์

C-130 ทั้งสี่ลำได้ลดระดับลงสู่ผืนน้ำอันกว้างใหญ่เบื้องหน้า อาศัยคลื่นวิทยุจากหอบังคบการบินเอนเทบเบ้ เครื่องบิน C-130 สามารถจับทิศทางของสนามบินได้แล้ว แผนการเข้าหาสนามบินวางเอาไว้ว่าเครื่องสองลำจะร่อนลงที่ทางวิ่งใหม่ อีกสองลำที่เหลือจะลงที่ทางวิ่งเก่า การบินอันยาวนานเจ็ดชั่วโมงเต็มโดยไม่ได้ใช้วิทยุติดต่อกัน ไม่มีการส่งสัญญานนำทาง ใช้แต่เพียงการตัดสินใจของนักบินลำหน้าเท่านั้น บางช่วงของการเดินทางเครื่องบินต้องบินเข้าหาพายุแทนที่จะบินอ้อมเพื่อรักษาน้ำมันเอาไว้ให้มากที่สุด สิบนาทีสุดท้ายเครื่องบินลดความเร็วลง หยาดน้ำกระเซ็นเพราะแรงเป่าของลมขึ้นมาที่กระจกหน้าแล้วลู่ออกเป็นแนว ทันใดนั้นทางวิ่งของสนามบินเอนเทบเบ้ปรากฏอยู่เบื้องหน้า มีฝนตกโปรยปรายสลับกับสายฟ้าแล่บ เครื่องบินลำแรกได้ลงสู่สนามบินเอนเทบเบ้เป็นผลสำเร็จ นักบินไม่ใช้ระบบ Reveres เพราะไม่ต้องการให้เกิดเสียงดังเพียงแต่ประคองเครื่องให้อยู่ในทางวิ่งและเข้าไปจอดตามจุดที่กำหนดไว้ตามแผน

ลำที่สองร่อนลงตามมา เพราะการฝึกซ้อมที่ดีการมาถึงของเครื่องบินสองลำแรกเงียบเสียจนผู้ก่อการร้ายไม่รู้ตัว บางคนยังนั่งสบายอยู่บนเก้าอี้นวม นักบินคนหนึ่งกล่าวว่า “ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนอยู่ในนรก เงียบจนเหมือนเรารอเวลาตาย มันไม่น่าจะเงียบถึงขนาดนั้นเลย ไม่มีเสียงปืน ไม่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านความเงียบอย่างนั้น มันน่ากลัวเสียกว่าจะถูกยิงเสียอีก เงียบเหมือนอยู่ในนรก รู้สึกว่านั่งรอเวลาตายแท้ๆ มือข้างหนึ่งอยู่ที่คันบังคับ รอว่าเมื่อไรกับดักที่เขาดักเราไว้จะกางออก”

ประตูท้ายเปิดออกหน่วยจู่โจมแต่ละส่วนวิ่งเข้าประจำตามจุดที่กำหนดไว้ พลเเม่นมือควานหาเป้าหมายของตน เสียงปืนนัดแรกดังขึ้นก่อนเที่ยงคืนหลังจากที่เครื่องบิน C-130 ลงถึงพื้นไม่ถึง 2 นาที ลูกน้องของ “ยอนนี่” เด็ดชีพผู้ก่อการร้ายชาวเยอรมันขณะที่นิ้วของมันแตะอยู่ที่ไกปืน ระหว่างหมุนตัวกลับหันมายกปืนขึ้นเตรียมยิง
เสียงปืนของทหารอิสราเอลแผ่กัมปนาทแหวกความมืดแทรกเข้าร่างมันเสียก่อนเป็นศพแรก ผู้ก่อการร้ายผู้หญิงชาวเยอรมันอีกคนมีระเบิดอยู่ในมือได้แต่ยืนตะลึงพลันรู้ว่าตัวเองสิ้นหวัง เมื่อหน่วยจู่โจมของอิสราเอลจ่อกระบอกปืนมาที่เธอห่างไปเพียงสองสามหลา แล้วกดไกจนกระสุนหมด เขาบอกว่า “เขาไม่เคยยิงผู้หญิงมาก่อน ยิงไปแล้วเหมือนไม่มีสติไปด้วย”

กำลังเสริมจากเครื่องลำที่สามเข้ามาพอดีร้องตะโกนเข้าไปในตัวตึกเป็นภาษฮีบรูว่าให้ “หมอบลง หมอบลง” ผู้โดยสารซึ่งเป็นตัวประกันบางคนตกตะลึงไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น ผู้ก่อการร้ายชาวอาหรับสองคนยืนอยู่ท่ามกลางกลุ่มผู้โดยสาร คนหนึ่งใช้ปืนกลยิงตอบโต้และยิงใส่กลุ่มตัวประกัน อีกคนหนึ่งใช้ปืนรีวอลเวอร์ .357
หน่วยจู่โจมของ “ยอนนี่” หันไปหาที่มาของเสียงปืนแล้วปืนทุกกระบอกก็ลั่นกระสุนเข้าใส่เป้าเดียวกัน ความอลม่านเกิดขึ้นบ้างเพราะผู้โดยสารบางคนคิดว่าผู้ก่อการร้ายลงมือสังหารตัวประกัน เด็กบางคนตกใจร้องไห้ “ยอนนี่” และหน่วยจู่โจมของเขาไล่ล่าผู้ก่อการร้ายที่เหลืออยู่ขึ้นไปบนตัวตึกชั้นบน คนหนึ่งแอบในตู้ คนหนึ่งอยู่ในส้วม ทั้งคู่มีอาวุธและถูกเด็ดชีพในที่สุด ผู้ก่อการร้ายคนที่เจ็ดวิ่งหนีไปทางด้านเหนือของตัวตึกแต่ก็ไม่อาจหนีรอดไปได้
ทหารยูกันดาที่อยู่ในหอบังคับการบินเริ่มรู้ตัวและระดมยิงใส่ทหารอิสราเอล มีเสียงออกมาจากวิทยุว่า “ยอนนี่ถูกยิง ยอนนี่ถูกยิง” เสียงนี้เขย่าขวัญทหารทุกคน เขย่าขวัญผู้บัญชาการทหารทุกคนในเทลาวีฟที่เฝ้าฟังการปฏิบัติการจากการติดต่อทางวิทยุเท่านั้น เขาล้มคว่ำลงตรงหน้าประตูหอบังคับการบินเลือดออกอย่างน่ากลัว แต่หน่วยจู่โจมของเขาก็รุกหน้าไปเพื่อเข้าควบคุมหอบังคับการบินให้ได้ รถสายพานลำเลียงและรถจี๊บติดปืนไร้แรงสะท้อนแล่นออกไปที่หน้าสนามบินเพื่อเตรียมรับมือทหารยูกันดาที่คาดว่าอาจจะเคลื่อนกำลังเข้ามา ประเมินว่าอาจมีรถถังเข้ามาร่วมด้วยแต่โชคดีที่มีเพียงหน่วยทหารขนาดเล็กที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่หลงเข้ามาและถูกทหารอิสราเอลซุ่มโจมตีเสียก่อน

ระหว่างนั้นเครื่อง C-130 หมุนตัวหันท้ายเข้าหาผู้โดยสารที่กำลังวิ่งเข้ามา แต่ละลำที่ลงจอดจะมีหน่วยคุ้มกันลำละ 12 คน เดิมมีแผนที่จะแอบเติมน้ำมันที่สนามบินเอนเทบเบ้ แต่การปฏิบัติการเสร็จเร็วเกินคาด จึงเปลี่ยนแผนไปเติมที่เคนย่า ซึ่งห่างออกไป 50 นาที ในขณะที่เหลือน้ำมันบินได้อีก เพียง 90 นาที นักบินเสี่ยงไปตายเอาดาบหน้า
เสียงรายงานที่พอจับใจความได้ว่า “ขึ้นเครื่องยี่สิบแล้ว ยี่สิบเอ็ดมาอีกสิบทั้งกลุ่ม” ร่างไร้วิญญาณของ “ยอนนี่” ถูกนำขึ้นเครื่องพร้อมกับผู้โดยสาร ลูกน้องของเขาร้องไห้ เพราะคิดว่าเขาเพียงบาดเจ็บ อาศัยเวลาที่เหลือทหารอิสราเอลจับตัวทหารยูกันดาได้ 2 คนและมัดมือ-มัดขาเอาไว้เพื่อเป็นของขวัญให้แก่ “อีดี้ อามิน” ทหารอิสราเอลหลีกเลี่ยงที่จะฆ่าทหารยูกันดาเพราะเป็นทหารที่อิสราเอลเคยมาฝึกไว้ให้ อิสราเอลประมาณว่ามีทหารยูกันดาตายเพียง 20 นาย แต่ทางการยูกันดารายงานว่ามี 45 นาย เชื่อว่าจำนวนที่เกินมาเกิดจากน้ำมือของ “อีดี้ อามิน” จอมโฉดแห่งศตวรรษ ที่สั่งฆ่าลูกน้องของตนเพราะความโกรธแค้น

แผนปฏิบัติการใช้เวลาเพียง 53 นาที เร็วกว่าที่คาดไว้ 2 นาที ก่อนที่กองบินรบของอิสราเอลจะลาจากเอนเทบเบ้ อิสราเอลได้ทำลายสถานีเรดาร์และเครื่องบิน MIG ที่จอดอยู่เพื่อป้องกันการไล่ติดตาม ทั้งยังได้แอบถอดอุปกรณ์พิเศษบางอย่างติดมือกลับไปอีกด้วย พวกผู้ก่อการร้ายคาดว่าจะมีทั้งหมด 10 คน ถูกสังหารไป 7 คน อีก 3 คน ที่เหลือคาดว่าน่าจะถูกจับเป็น แต่ทางการอิสราเอลปฏิเสธ สิ่งที่อิสราเอลสูญเสียไปคือเครื่องปั๊มน้ำมันทันสมัยที่เตรียมไว้เพื่อเติมน้ำมันที่เอนเทบเบ้ อิสราเอลจำต้องทิ้งไว้เพื่อให้เครื่องบินมีระวางบรรทุกพอที่จะนำอุปกรณ์เรดาร์โซเวียตที่เป็นความลับกลับประเทศ มีเสียงระเบิดและเปลวไฟจากเครื่องบิน MIG ให้ได้ยินได้เห็นก่อนประตูท้ายของเครื่องกำลังปิดลง เครื่องบินที่ลงเป็นลำแรกได้ออกจากเอนเทบเบ้เป็นลำสุดท้าย



กองบินรบทั้งหกลำมุ่งสู่สนามบินเอมบากาซี ประเทศเคนยา สองลำแรกที่ลงก่อนเป็นเครื่องบิน Boeing 707 ต่อมาอีกสามสิบนาทีเป็นเครื่องบิน C-130 ทยอยกันมาลง หอบังคับการบินเอมบากาซีมึนงงและสับสนกับการมาถึงของเครื่องบินที่ไม่มีกำหนดการบินล่วงหน้า แต่ก็อนุญาตให้ลงเพราะได้รับแจ้งว่ามีเหตุฉุกเฉินต้องร่อนลงโดยด่วน
เครื่องบินเติมน้ำมันจนอิ่ม ผู้โดยสารได้รับการช่วยเหลือ พวกบาดเจ็บสาหัส 2 คนต้องเข้ารักษาพยาบาลในเคนย่า เวลาก่อนรุ่งเช้าสองชั่วโมง กองบินรบอิสราเอลทั้งหมดได้ขึ้นจากเอมบากาซี มุ่งหน้าสู่อิสราเอล
ในขณะที่ปฏิบัติการฟ้าฟาดดำเนินอยู่ “อีดี้ อามิน” อยู่ระหว่างการหลับใหล เขาไม่รู้อะไรเลยจนกระทั่งเกือบรุ่งเช้า เขาจึงทราบข่าวการบุกเอนเทบเบ้ และโทรศัพท์ไปต่อว่าอิสราเอล ก่อนจะวางหูเขาสารภาพว่า
“พูดอย่างทางทหารนะ ไม่ใช่นักการเมือง ผมอยากจะบอกคุณว่า ทหารของคุณเยี่ยมมาก หน่วยจู่โจมของคุณเก่งจริงๆ”

งานนี้ผู้รับหน้ามากที่สุดคือ “พันเอกโยนาธาน เนธันยาฮู” หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษทาสก์ฟอร์ส และมีผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติการครั้งนี้เพียง 2 คน เท่านั้น คือ “ผู้พันยอนนี่” และ”ดอร่า บล็อก”
“ดอล่า บล็อก” เป็นหญิงม่ายชาวอังกฤษเชื้อสายยิวที่ถูกปลดปล่อยจากไฮแจ็คที่กรุงเทลอาวีฟ ประเทศลิเบีย โดยที่ผู้ก่อการร้ายไม่ทราบว่าเธอคือชาวยิวเหมือนกันและเนื่องจากเธอมีอาการหนักจากเหตุการณ์สำลักอาหารเมื่อช่วงวันอาทิตย์ พอดีกับช่วงที่ผู้ก่อการร้ายเข้าควบคุมเครื่องบิน เธอตกใจมากจนอาหารที่รับประทานติดเข้าที่หลอดลม เกิดอาการสำลักปางตาย ต่อมาผู้ก่อการร้ายจึงปล่อยเธอและนำไปที่โรงพยาบาลที่ห่างจากสนามบินกรุงเทลอาวีฟ ก่อนหน้าที่จะมีการชิงตัวประกันจากสนามบินเอนเทบเบ้ ทว่า … ภายหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง หลังภารกิจช่วยตัวประกันที่สนามบินเอนเทบเบ้ – “อีดี้ อามิน” จอมโฉดที่กำลังเคียดแค้นกับการหักหน้าอย่างสุดๆ ของหน่วยปฏิบัติการของ “พันเอกโจนาธาน เนธันยาฮู” ผู้กล้าหาญสั่งการให้นำตัว “ดอล่า บล็อก” ไปสังหารทันที เพื่อล้างแค้นชาวยิวที่ทำให้ตนเสียหน้า

เมื่อทหารใต้บัญชาของ “อีดี้ อามิน” ไปถึงโรงพยาบาลที่รักษา “ดอล่า บล็อก” ทันทีที่เปิดประตูห้อง กระสุนถูกราดเข้าใส่หญิงม่ายชาวยิว จนไม่อาจนับจำนวนได้ ไม่ต้องพูดถึงสภาพ เพราะ “ดอล่า” สิ้นใจตั้งแต่นัดแรกแล้ว จากนั้น “อีดี้ อามิน” ก็สั่งการให้ลากศพของเธอไปทิ้งไว้ที่ชานกรุงกัมปาลา แม้ว่าทางรัฐบาลอังกฤษจะสอบถามอย่างไรต่อจอมเผด็จการก็ตาม ทว่า … ไม่มีเสียงตอบออกมาจากผู้นำทรราชย์ โดยที่เขาอ้างว่า ทางกองกำลังส่งเธอขึ้นเครื่องไปนานแล้ว … มันคือโศกนาฏกรรมที่โลกต้องจารึกไว้ว่า ผู้นำประเทศผู้มีกำลังทหารในกำมือ แต่กลับมีใจที่หยาบช้า สั่งสังหารหญิงหม้ายเพียงคนเดียวได้ลงคอ

พันโทโยนาธาน ยอนนี่ เนตานยาฮู
ในเวลาต่อมาแผนปฏิบัติการครั้งนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ปฏิบัติการโยนาธาน” (Operation Yonatan) เพื่อเป็นเกียรติแก่ “พันโทโยนาธาน ยอนนี่ เนตานยาฮู” ซึ่งเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติการhttp://en.wikipedia.org/wiki/Operation_Entebbe

Comments

Popular posts from this blog

"ชมรมขนหัวลุก" ตอน ครูวันเพ็ญ

รูปขำๆ ฮาๆ ที่ระเบียงวัดพระแก้ว

ซากซับกระท้อน ภาคแรก(๒ตอนจบ)